เกร็ดความรู้การจัดซื้อจัดจ้างตามระบบ ISO 9001:2015, ISO 14001:2015 และ ISO 45001:2018
สวัสดีครับ กลับมาพบกับสาระน่ารู้เกี่ยวกับระบบ ISO กับทาง SOCOTEC อีกครั้ง วันนี้จะชวนไปดูเรื่องที่เกิดขึ้นในองค์กรของเราจากการจัดซื้อจัดจ้างที่จะอิงกับข้อกำหนดของระบบ ISO 9001:2015, ISO 14001:2015 และ ISO 45001:2018
ซึ่ง ISO ทั้งสามระบบที่เรานำมาใช้ในองค์กรนั้น มีข้อกำหนดที่บังคับที่ชัดเจนดังจะได้นำเสนอในลำดับถัดไป แต่ในหัวข้อในวันนี้จะมุ่งเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างก่อนครับ
ก่อนอื่น ถ้าจะอ้างอิงถึงข้อกำหนด ISO ทั้ง 3 ระบบเทียบกันในเฉพาะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง มีข้อมูลดังต่อไปนี้
- ISO 9001:2015: ข้อกำหนดที่ 8.4 การควบคุมสินค้าและบริการที่ถูกจัดหาจากแหล่ง ภายนอก (Control of externally provided processes, products and services),
- ISO 14001:2015: ข้อกำหนดที่ 8.1 การดำเนินการในการวางแผน และควบคุม (Operational planning and control),
- ISO 45001:2018: ข้อกำหนดที่ 8.1.4 การจัดหา (Procurement).
ในข้อกำหนดทั้ง 3 ระบบใช้ควบคุมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการที่ทางองค์กรทำการจัดซื้อจัดจ้างให้สนับสนุนผลลัพธ์ของแต่ละระบบ เช่น ผลลัพธ์ของ ISO 9001 ก็จะเป็นเรื่องคุณภาพของสินค้าและบริการ, ผลลัพธ์ของ ISO 14001 ก็คือไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และผลลัพธ์ของ ISO 45001 ก็คือความปลอดภัยในชีวิต (การบาดเจ็บและการป่วยจากการทำงาน) เพราะฉะนั้นในการที่จะซื้อสินค้าก็ต้องมีข้อกำหนดและเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. เงื่อนไขในการคัดเลือกผู้ขาย หรือผู้ให้บริการ (ในระบบเรียกว่า external provider ซึ่งรวมถึง contractor ด้วยนะครับ) โดยในส่วนนี้องค์กรก็ต้องกำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ที่ขายของให้เรา หรือให้บริการเรา เช่น เค้าได้รับการรับรองระบบตามที่เราอยากได้หรือไม่ (ISO 9001, ISO 14001 และ ISO 45001 เป็นต้น) ถ้าไม่ได้มีการควบคุมอย่างอื่นที่จะทำให้เรามั่นใจว่าเค้าจะเตรียมสินค้าให้เราได้ตามคุณภาพและเวลาที่เราต้องการ รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่นวัสดุที่นำมาใช้ในโครงการสามารถย่อยสลายได้โดยธรรมชาติและไม่เป็นพิษต่อคน และสัตว์ และปลอดภัยกับผู้ใช้งาน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ทั้งโดยผลิตภัณฑ์และบริการ เพราะฉะนั้นตามเงื่อนไขข้างต้นก็จะทำให้เห็นภาพได้ว่า การจัดซื้อจัดจ้างนั้นก็ควรจะกำหนดเงื่อนไขเรื่องสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้ใช้งาน แต่ต้องพิจารณาถึงตัวผู้มีส่วนได้เสีย (interested parties) ด้วย
2. ขั้นตอนในการจัดซื้อ การพิจารณาและอนุมัติ ซึ่งขั้นตอนที่ใช้ก็สามารถทำได้ตามระเบียบปฏิบัติ (procedure) แต่ละองค์กร อันนี้ก็จะรวมถึงรายละเอียดของสินค้า และบริการที่ต้องระบุให้ผู้ขายทราบทั้งในทุกๆ ข้อกำหนดทางด้าน คุณภาพ, สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย รวมถึงข้อกำหนดที่จำเป็นอื่นๆ ด้วย (specification and other requirements).
3. การตรวจรับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จัดซื้อจัดจ้างไปถูกต้องตามที่เราต้องการหรือไม่ ซึ่งก็ต้องมีเกณฑ์ในการตรวจรับ
4. ขั้นตอนการประเมินซ้ำ คือ หลังจากเราได้รับสินค้าหรือบริการ สินค้านั้น และ/หรือบริการนั้นตามข้อกำหนดทางด้านคุณภาพ, สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ซึ่งก็ต้องตั้งเกณฑ์ขึ้นมาเช่นกัน
ดังนั้นจากเงื่อนไขที่เล่ามาทั้ง 4 ข้อ หากเรานำไปประยุกต์ใช้ภายในองค์กร ก็จะสามารถทำให้ระบบของเรามีประสิทธิภาพและป้องกันการเกิดปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นตามมาได้
บทความโดย : คุณภัคพิสิษฐ์ พงษ์จักร (หัวหน้าผู้ตรวจประเมิน)
ท่านสามารถติดตามข่าวสารอัพเดทและความรู้เกี่ยวกับระบบมาตรฐาน ISO ได้ที่
ติดต่อเรา: 02 964 9918-20